![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/647f0f9adee0a598d8a85c89_%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87%20web%20(84).jpg)
‘สื่อสิ่งพิมพ์จีน’ ตัวกลางเชื่อมสัมพันธ์จีน-อาเซียน
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db968ede13a37/6063345cc13db9afcbe13a84_Clock.png)
6
June
2023
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db968ede13a37/6063345cc13db9afcbe13a84_Clock.png)
6
June
2023
ภายในร้านหนังสือ Union Book ที่สิงคโปร์ พนักงานค่อยๆ หยิบหนังสือภาษาจีนขึ้นจัดเรียงบนชั้นวางทีละเล่ม ลูกค้าต่างมองหาหนังสือเล่มที่ตัวเองสนใจ ที่ร้านแห่งนี้มีหนังสือออกใหม่จากประเทศจีนมากกว่า 200 ประเภท ครอบคลุมทั้งเนื้อหาด้านการเมือง เศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษา ศิลปะ ฯลฯ นอกเหนือจากการจำหน่ายหนังสือภายในร้านแล้ว ร้านหนังสืออีกหลายแห่งในสิงคโปร์ก็สั่งซื้อหนังสือภาษาจีนนำเข้าผ่านทาง Union Book ด้วยเช่นกัน
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/647f0fbdf255c154c53ccff2_1.jpg)
Union Book เป็นสำนักพิมพ์จากฮ่องกงที่เข้ามาตั้งสำนักงานที่ชั้น 2 ของร้านหนังสือนานาชาติ ตรงข้ามท่าเรือ Clifford ในสิงคโปร์ เมื่อปี 1952 มีประวัติความเป็นมายาวนานถึง 71 ปี โดย Union Book ไม่ใช่แค่ร้านจำหน่ายหนังสือ แต่ยังผลิตสื่อการเรียนการสอนและตีพิมพ์นิตยสารด้วย “ร้านของเรามักจะจัดงานแนะนำหนังสือหรือกิจกรรมแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมให้กับผู้อ่านในแต่ละช่วงอายุ เพื่อช่วยผลักดันให้สื่อสิ่งพิมพ์ภาษาจีนเข้าถึงผู้อ่านในสิงคโปร์มากขึ้น” หม่า เสี่ยวหมิ่น กรรมการผู้จัดการ Union Book กล่าว
ในมุมมองของ หม่า เสี่ยวหมิ่น ปัจจุบันถือได้ว่าเป็นยุคทองของการพัฒนาตลาดสื่อสิ่งพิมพ์จีนในสิงคโปร์ “จากการก้าวขึ้นมาเป็นประเทศมหาอำนาจของจีน ทำให้วัฒนธรรมจีนได้รับความสนใจจากสังคมสิงคโปร์มากขึ้น พ่อแม่ยุคใหม่ต้องการให้ลูกได้สัมผัสกับวัฒนธรรมจีน หนังสือสำหรับเด็กที่เรานำเข้ามาทำยอดขายได้ดีมาก โดยเฉพาะหนังสือภาพเล่าเรื่องวัฒนธรรมจีนที่ขายดีเป็นพิเศษ”
เช่นเดียวกันกับหลายประเทศในอาเซียนที่สื่อสิ่งพิมพ์จีนกำลังได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ
ปี 2022 นิทรรศการสื่อสิ่งพิมพ์จีนสัญจรเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ครั้งที่ 6 ได้จัดขึ้นในหลายประเทศอาเซียน เช่น ไทย มาเลเซีย และสปป.ลาว โดยนิทรรศการหลักจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ ประเทศไทย ช่วงเวลาเดียวกันกับงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 50 และ สัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 20 ภายในงานมีสำนักพิมพ์มากกว่า 100 สำนักพิมพ์ และ 10 พับลิชชิ่งกรุ๊ปยักษ์ใหญ่ของจีน ขนทัพหนังสือมาเข้าร่วมจัดแสดงกว่า 6,000 ปก จำนวนนับ 10,000 เล่ม
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/647f1041a967cd3971bde9f4_2.jpg)
(ภาพ: สมาคมธุรกิจจัดจำหน่ายหนังสือและวารสารแห่งประเทศจีน)
ทิพย์สุดา สินชวาลวัฒน์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และจำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หลายปีมานี้นิทรรศการสิ่งพิมพ์จีนสัญจรฯ มีส่วนช่วยให้มีหนังสือแปลจากภาษาจีนจำนวนมากถูกป้อนเข้าสู่ตลาดเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเข้าสู่ร้านหนังสือ โรงเรียน สามารถสร้างผลกำไรและได้เสียงตอบรับที่ดีจากสังคมอย่างน่าชื่นชม ทั้งหมดนี้ ถือว่าเป็นภาพสะท้อนของการทำคุณประโยชน์ซึ่งกันและกันระหว่างผู้ประกอบการสิ่งพิมพ์ทั้ง 2 ประเทศ
นับตั้งแต่มีการดำเนินโครงการความร่วมมือแปลงานเขียนคลาสสิคของเอเชีย จีนได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการแปลและตีพิมพ์ผลงานคลาสสิกร่วมกับ สิงคโปร์ สปป.ลาว และหลายประเทศในอาเซียน สื่อสิ่งพิมพ์ของจีนได้รับการแปลและตีพิมพ์ในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และได้เข้าร่วมในงานมหกรรมหนังสือนานาชาติและงานนิทรรศการสัญจรต่างๆ ในอาเซียน ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนทรัพยากรช่องทางและบุคลากรร่วมกัน ตลอดจนร่วมกันสร้างสะพานเชื่อมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมแบบสองทางผ่านผลงานที่ยอดเยี่ยม
หนังสือเป็นตัวกลางสำคัญในการเผยแพร่ความรู้และแลกเปลี่ยนอารยธรรมมาตั้งแต่โบราณ “งานประชุมฟอรั่มวัฒนธรรมจีน-อาเซียน ครั้งที่ 18” จะจัดขึ้นในวันที่ 19 มิ.ย.2566 ณ นครหนานหนิง เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ประเทศจีน ภายใต้หัวข้อหลักว่าด้วย “การสร้างห้องสมุดอัจฉริยะและส่งเสริมการอ่าน"
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/647f10bedee0a598d8a92e0d_3.jpg)
ภายในงาน ผู้เชี่ยวชาญและนักวิชาการด้านวัฒนธรรมและตัวแทนจากหอสมุดประเทศต่างๆ จะร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในประเด็นเรื่องการสร้างห้องสมุดอัจฉริยะในยุคดิจิทัล การฟื้นฟูและปกป้องหนังสือโบราณ การส่งเสริมการอ่าน และกระชับความร่วมมือด้านห้องสมุดและสื่อสิ่งพิมพ์ระหว่างจีน-อาเซียน เพื่อร่วมกันผลักดันการพัฒนาห้องสมุดในภูมิภาคจีน-อาเซียนอย่างมีคุณภาพ
ข้อมูลจาก: สำนักข่าวซินหัว, Lianhe Zaobao, Guangming Online
เรียบเรียงโดย: หวง ลี่เสีย China-ASEAN Panorama