![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/649a8f7d90d111e11c2f187a_%E0%B8%A3%E0%B8%B9%E0%B8%9B%E0%B8%A5%E0%B8%87%20web%20(100).jpg)
จีนชื่นชมไทย ใช้นวัตกรรม 'ฝายแกนดินซีเมนต์' ต้านภัยแล้ง
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db968ede13a37/6063345cc13db9afcbe13a84_Clock.png)
27
June
2023
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db968ede13a37/6063345cc13db9afcbe13a84_Clock.png)
27
June
2023
“สังศิต” เผยผู้บริหารระดับสูงของจีน สนใจ “ฝายแกนดินซีเมนต์” ยินดีเดินทางมาศึกษาดูงานแก้จนที่ประเทศไทย
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา เปิดเผยว่า หลังจากตนกล่าวสุนทรพจน์จบ ประธานการจัดงานคือ นายหลิว ฮ่วนซิน ผู้อำนวยการสำนักงานฟื้นฟูชนบทแห่งชาติจีน ได้เข้ามาแสดงความชื่นชมพร้อมกับกล่าวว่าสิ่งที่นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ พูดให้ข้อคิดหลายอย่างที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศจีนที่จะต้องนำไปคิดต่อไป
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/649a8ffe1fc76f4824ec546f_S__41443337.jpg)
“มีผู้บริหารระดับสูงของจีนหลายท่านเข้ามาจับมือกับนายสังศิต แสดงความชื่นชม และกล่าวว่าจีนจะต้องออกไปศึกษาประสบการณ์จากเพื่อนบ้านมากขึ้น และยินดีจะเดินทางมาศึกษาดูงานแก้จนที่ประเทศไทย โดยเฉพาะเรื่องฝายแกนดินซีเมนต์ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศจีนด้วยเช่นเดียวกัน”
ทั้งนี้ คำกล่าวเปิดงาน 'ฟอรั่มว่าด้วยการพัฒนาสังคมและลดความยากจนจีน-อาเซียน ครั้งที่ 17' (The 17th ASEAN-China Forum on Social Devolopment and Poverty Reduction) ของนายสังศิต พิริยะรังสรรค์ (Assoc.Prof.Dr.Sungsidh Piriyarangsan) ประธานคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา ที่จัดขึ้นที่ เป๋ยไห่ กว่างซี ประเทศจีน เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 มีดังนี้คือ
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/649a8401732d7b4d8dcc7396_S__41443334.jpg)
มิตรทั้งหลาย ท่านผู้มีเกียรติทั้งหลาย ก่อนอื่นทั้งหมดผมใคร่ขอขอบคุณรัฐบาลจีนเป็นอย่างสูง และมิตรทุกท่านที่ให้โอกาสแก่ประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมอันทรงคุณค่ายิ่ง เพื่อให้เข้าใจและเข้าถึงประสบการณ์ตรงและความจริงใหม่ (new truth) ที่ประชาชนในประเทศของท่านร่วมกันสร้างขึ้นมาในระยะใกล้ๆ
สำหรับประเทศไทยในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ความยากจนยังเป็นปัญหาที่ใหญ่ที่สุดและยากลำบากที่สุด เช่นเดียวกับปัญหาความเหลื่อมล้ำทางด้านรายได้ระหว่างคนมั่งมีกับคนจนที่ช่องว่างกำลังขยายตัวมากขึ้นจนน่าวิตก
ผมเห็นว่าไม่มีทฤษฎีและสูตรสำเร็จรูปใดๆ ในการแก้ปัญหาความยากจนสำหรับประเทศไทย เราต้องเริ่มต้นจากความเป็นจริงของสังคมไทยเอง การแก้จนของไทยต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของสังคมและวัฒนธรรมไทย เพราะว่าในภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคกลางและภาคใต้ล้วนแล้วแต่มีสภาพภูมิศาสตร์ วัฒนธรรม และนิสัยใจคอของคนที่แตกต่างกัน ผู้ว่าราชการจังหวัดและนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดทั้ง 76 จังหวัดต่างมีมุมมองและให้ความสำคัญเรื่องการแก้จนที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการออกแบบเรื่องการแก้ปัญหาความยากจนของแต่ละพื้นที่จึงต้องประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของอำนาจ (power) ที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาตามความเป็นจริงด้วย
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/649a90751fc76f4824ecb836_S__41443338.jpg)
120 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานชลประทานของไทยสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ อ่างเก็บน้ำและพื้นที่ชลประทานได้ประมาณร้อยละ 22 ของพื้นที่การเกษตรทั้งประเทศ พื้นที่ที่เหลืออีกร้อยละ 78 ต้องอาศัยแต่น้ำฝน ภารกิจของเราคือการหาน้ำและการแก้จน ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ถูกเรียกว่า “พื้นที่แล้งซ้ำซาก” งานของเราคือการจูงใจให้รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชนเห็นความสำคัญของการแก้จน ด้วยการสร้าง ฝายแกนดินซิเมนต์ (soil cement dam)
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/649a844a8e31d5a5898a1d86_322741811_409736584678875_6008133389037271678_n.jpg)
ฝายชนิดนี้เป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (technological innovation) เพราะทำง่าย ไม่ซับซ้อน ฝายทำจากดินในท้องที่นั้นราว 10-30 ส่วน ผสมกับปูน 1 ส่วน ฉะนั้นต้นทุนของฝายแกนดินซิเมนต์จึงมีราคาถูก ราคาของฝายชนิดนี้ไม่แตกต่างจากฝายชนิดอื่น ฝายสร้างเสร็จได้ในเวลาอันสั้นราว 5 -15 วัน มีความทนทาน ใช้งานได้นานนับสิบๆ ปี ในขณะที่ฝายทุกชนิดมีอายุเฉลี่ยไม่เกิน 1 ปี ฝายแกนดินซีเมนต์มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการกักเก็บน้ำสูงเพราะน้ำไม่สามารถซึมลอดใต้ฝายและที่ปีกทั้งสองด้านด้วย มันจึงเป็นฝายชนิดเดียวที่สามารถกักเก็บน้ำเอาไว้ได้ตลอดทั้งปี ฝายสามารถออกแบบให้ใช้งานได้สำหรับ 4-5 ครัวเรือน จนกระทั่งถึงใช้ประโยชน์ได้สำหรับประชาชนทั้งอำเภอ
ฝายชนิดนี้เป็นมิตรกับสภาพนิเวศน์ทางธรรมชาติ เพราะมันสร้างอยู่ใน แม่น้ำ ลำห้วย ลำคลอง ลำธาร และสร้างได้ทั้งบนพื้นที่สูง เช่น ภูเขา และพื้นที่ราบ ความสูงของฝายอยู่ที่ 1.5-2 เมตร
ในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา ภาคประชาสังคม องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ และภาคธุรกิจเอกชน ได้ช่วยกันสร้างฝายแกนดินซิเมนต์ขึ้นแล้วกว่า 600 แห่ง ทั่วทุกภาค ฝายแกนดินซีเมนต์ช่วยให้เกษตรกรในพื้นที่แล้งซ้ำซากสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/649a846fa597bef6a712256e_300376535_464940175642916_4374587852192207830_n.jpg)
ตัวอย่างความสำเร็จขั้นต้นที่เราขอกล่าวอ้างถึงคือ ที่ตำบลทุ่งชมพู อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งอยู่ที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทย ทุ่งชมพูเป็นพื้นที่สูง ชาวบ้านถูกบีบบังคับให้อพยพมาจากพื้นที่ราบที่รัฐบาลต้องการสร้างเขื่อนเมื่อปี 2504 ทุ่งชมพูมีเป็นพื้นที่ขนาด 11,000ไร่ มีประชากรประมาณ 1,000 ครัวเรือน กว่า 50 ปีที่เกษตรกรต้องทำนาน้ำฝนปีละหนึ่งครั้ง ทุกครัวเรือนจึงยากจนเหมือนกันหมด ในปี 2558 ทีมงานของเราได้เข้าไปสนับสนุนให้มีการสร้างฝายแกนดินซิเมนต์จำนวนสี่ตัวเพื่อกักเก็บน้ำใต้ดินไว้ให้เกษตรกรจำนวนหนึ่ง พวกเราแนะนำให้เกษตรกรทำบ่อบาดาลน้ำตื้นและใช้โซล่าร์เซลล์ เกษตรกรทำการเกษตรแบบผสมผสาน และใช้ระบบน้ำหยด เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้ทุกวัน ในปี 2563 แต่ละครัวเรือนใช้คนทำงานสองคน มีรายได้เฉลี่ย 2,000-3,000 บาทต่อวัน หรือ 400-600 หยวนต่อวัน ในปี 2565 พวกเขามีรายได้ 3,000-5,000 บาทต่อวัน หรือ 600-1,000 หยวนต่อวัน ในปี 2566 พวกเขามีรายได้ 5,000-7,000 บาทต่อวัน หรือ 1,000-1,200 หยวนต่อวัน
ประสบการณ์การแก้จนของเรามีเพียงน้อยนิด การทำงานของเราเพิ่งเริ่มต้น แต่การได้มาศึกษาดูงานเรื่องการแก้ความยากจนที่จีนเมื่อวันที่ 21-27 พฤษภาคม 2566 ช่วยให้เราเห็นการแก้ปัญหาเรื่องนี้ของจีนในเชิงโครงสร้างการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/649a90e53649b0e0b9294323_S__8986685.jpg)
ผมเห็นว่า การแก้ปัญหาความยากจนของจีนได้สำเร็จไม่เพียงแต่สร้างคุณูปการให้แก่ประเทศจีนเท่านั้น แต่ยังสร้างแรงบันดาลใจให้แก่รัฐบาลและประชาชนทั่วโลกอีกด้วย ผมคิดว่าการที่พรรคคอมมิวนิสต์จีนเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเอกชนมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาความยากจนและในการพัฒนาเศรษฐกิจสังคมจีนยุคใหม่ ไม่เพียงแต่เป็นก้าวสำคัญของการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจสังคมรูปแบบใหม่ของโลกแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในโลกนี้ด้วย ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นที่ประเทศจีนทำให้ทั้งโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงใหม่ตามไปด้วย เพราะโลกได้เกิดระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ขึ้น ที่ไม่ใช่สังคมนิยมแบบเดิมและไม่ใช่ระบบเศรษฐกิจตลาดเพื่อสังคม (social market economy) แบบยุโรปที่เน้นเรื่องสวัสดิการ แต่จีนกำลังสร้างระบบสังคมเศรษฐกิจแบบใหม่ที่เน้นสวัสดิการแบบหนึ่งขึ้นมาในโลกเช่นเดียวกัน (social welfare economy) ระบบเศรษฐกิจของจีนเป็น “Market led social welfare economy” ผมขอแสดงความชื่นชมต่อความก้าวหน้าของพรรคคอมมิวนิสต์จีนและประเทศจีน
สุดท้ายนี้ ผมขอเรียกร้องให้นักวิชาการจีนและนักวิชาการทั่วโลกหันมาศึกษาและทำความเข้าใจระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ของจีน เพื่อสร้างเป็นทฤษฎีเศรษฐกิจใหม่ของโลก
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/649a841e1edc938d10386661_S__41443340.jpg)
ที่มา FB.สังศิต พิริยะรังสรรค์