![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/6358e648c5a27f092facb94d_%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E%20Feature.jpg)
เศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 โต 3.9% ‘นโยบายโควิดเป็นศูนย์’ ยังกดดันการฟื้นตัวถึงปีหน้า
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db968ede13a37/6063345cc13db9afcbe13a84_Clock.png)
7
May
2024
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db968ede13a37/6063345cc13db9afcbe13a84_Clock.png)
26
October
2022
จีนเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจจีนไตรมาส 3 GDP เติบโต 3.9% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งดีกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ และปรับตัวดีขึ้นกว่าในไตรมาส 2 ที่ผ่านมา 0.4% โดยได้รับปัจจัยหนุนจากการผ่อนคลายล็อกดาวน์ในเมืองใหญ่อย่างเซี่ยงไฮ้ ทำให้ภาคการผลิตเริ่มกลับมาฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงปัจจัยหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีมูลค่ากว่า 1 ล้านล้านหยวน ขณะที่ภาพรวมการเติบโตเศรษฐกิจจีน ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีการเติบโตที่ 3% ยังต่ำกว่าเป้าของรัฐบาลจีนที่ 5.5%
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/6358e6f8315994734be88117_1.jpg)
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนที่ยังต่อเนื่องไปยังปีหน้าจะยังเป็นปัจจัยกดดันเศรษฐกิจของจีนในระยะข้างหน้า ขณะที่สถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังไม่ส่งสัญญาณฟื้นตัว และภาคการส่งออกของจีนมีแนวโน้มชะลอตัวในช่วงที่เหลือของปี 2565 ต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ตามภาวะเศรษฐกิจโลก
ด้านปัจจัยที่จะเข้ามาสนับสนุนเศรษฐกิจจีนในช่วงที่เหลือของปี อย่างการผ่อนคลายนโยบายการเงินและการคลังเริ่มเผชิญข้อจำกัดมากขึ้น การจะใช้งบประมาณเพิ่มเติมเพื่อเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี 2565 และปีหน้า หรือการผ่อนคลายนโยบายการเงินเพิ่มเติม จีนอาจต้องพิจารณาเงื่อนไขต่าง ๆ มากขึ้น ทั้งในประเด็นเรื่องของเงินเฟ้อ และความแตกต่างทางนโยบายการเงินของจีนและสหรัฐฯ ที่จะสร้างแรงกดดันเพิ่มเติมต่อการอ่อนค่าของเงินหยวนในระยะต่อไป
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/6358e7105c532d2366d77944_%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%82%E0%B9%80%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%A9%E0%B8%90%E0%B8%81%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%88%E0%B8%B5%E0%B8%99.jpg)
สำหรับภาพรวมของเศรษฐกิจจีนในปี 2565 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่ามีแนวโน้มเติบโตที่ 3.4% และคาดว่าโอกาสที่จีนจะกลับไปเติบโตในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ยังมีจำกัด โดยยังมีปัจจัยท้าทายสำคัญคือนโยบายโควิดเป็นศูนย์ที่จะยังฉุดรั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและภาคธุรกิจ และสถานการณ์ภาคอสังหาริมทรัพย์ที่ยังไม่คลี่คลาย
![](https://cdn.prod.website-files.com/6063345cc13db992ffe13a50/6358e71df2d3177597bd49f7_2.jpg)
ทั้งนี้ หลังการประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนครั้งที่ 20 เสร็จสิ้นลง ทิศทางเกี่ยวกับการใช้นโยบายโควิดเป็นศูนย์ของจีนที่หลายฝ่ายจับตามองยังมีแนวโน้มที่จะดำเนินต่อไปอย่างน้อยจนถึงปี 2566 ในขณะที่อาจเห็นการผ่อนคลายในส่วนของรายละเอียดของมาตรการมากขึ้น เช่น อาจจะมีการลดจำนวนวันกักตัวสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศจีนจาก 10 เป็น 7 วัน แต่คาดว่าจะยังไม่มีการเปิดประเทศ การผ่อนปรนด้านมาตรการสำคัญหรือการใช้ชีวิตร่วมกับโควิดเหมือนกับประเทศอื่น ๆ จนกว่าจะมีความคืบหน้าเรื่องการฉีดวัคซีนในผู้สูงอายุ รวมถึงการเข้าถึงยารักษาในราคาที่เหมาะสมเพียงพอ